เมื่อเจ้าหนี้ยื่นฟ้องแล้ว ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ โอนย้ายทรัพย์สิน มีความผิดฐานใด?
เมื่อเจ้าหนี้ยื่นฟ้องแล้ว ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ โอนย้ายทรัพย์สิน มีความผิดฐานใด?
โดยปกติแล้วหากเป็นหนี้ก็ต้องชำระต่อกันถูกต้องมั้ยคะ โดยปกติแล้วเจ้าหนี้ทุกท่านก็ต้องการเงินที่ถูกยืมคืน แต่ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ ลูกหนี้บางรายอาจมีพฤติกรรมที่เกินเลยถึงขั้นไม่ต้องให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อีกด้วย ซึ่งลูกหนี้มีพฤติกรรมที่ไม่ต้องการชำระหนี้ในทางกฎหมายแล้วมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั่นเอง
ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 กำหนดไว้ว่า
“ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
สรุปง่ายๆก็คือ ภายหลังจากเจ้าหนี้ได้ส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถามหนี้ (Notice) แล้ว ลูกหนี้มีทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็น ทรัพย์สินอะไรก็ตาม ลูกหนี้อาจจะถูกเจ้าหนี้บังคับคดีเพื่อเอาทรัพย์สินลูกหนี้มาชำระหนี้ได้ แต่ถ้าลูกหนี้ไปโอนเปลี่ยนชื่อทรัพย์สินไปให้แก่ผู้อื่น หรือแกล้งให้ตนเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริง ทำให้เจ้าหนี้ได้รับความสียหาย เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องลูกหนี้เป็นคดีอาญา โดยเจ้าหนี้สามารถฟ้องทั้งตัวลูกหนี้และตัวผู้รับโอนทรัพย์สินจากลูกหนี้ให้เป็นเป็นจำเลยร่วมกับลูกหนี้ได้
โดนโทษอะไรบ้างหากทำผิดมาตรา 350
“ ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4135/2563
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 350 ประกอบมาตรา 83 ศาลชั้นต้นยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโดยวินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองฐานผิดสัญญาจะซื้อจะขายนั้นมีคำพิพากษายกฟ้อง มิได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองต้องโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินให้โจทก์ ขณะจำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินตามฟ้องให้แก่บุคคลภายนอก จำเลยทั้งสองจึงมิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีจึงไม่มีมูล ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้กันนับแต่ขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง และเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จึงมีหนี้อันสมบูรณ์ที่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้อยู่แล้วในขณะที่จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิด การกระทำของจำเลยทั้งสองครบองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้นั้น เป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยปรับข้อเท็จจริงที่รับฟังได้แล้วว่าครบองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้ตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงใหม่ให้ผิดไปจากที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย มิใช่อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่าเป็นอุทธรณ์ต้องห้ามในปัญหาข้อเท็จจริงแล้วพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์นั้น เป็นการไม่ชอบ