ผู้ค้ำประกันมีสิทธิ์อะไรบ้าง หากถูกบังคับคดี
ผู้ค้ำประกันมีสิทธิ์อะไรบ้าง หากถูกบังคับคดี?
เวลามนุษย์เรามีปัญหาเรื่องเงินทองเดือดร้อนต้องใช้เงินจริงๆ ก็คงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการหยิบยืมจาก สถาบันการเงินบ้าง เพื่อนบ้าง ครอบครัว หรือการกูเงินนอกระบบ ถ้าหากเรากู้จากสถาบันการเงินหรือกู้เงินนอกระบบ ก็อาจจะไม่ให้กู้เพราะไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่าคุณจะมีเงินมาคืนเขาก็ทองเรียกทรัพย์มาเป็นหลักประกันเพื่อความให้เกิดความมั่นใจว่าเราจะสามารชำระหนี้ให้เขาได้ แต่ถ้าหากท่านไม่มีทรัพย์หล่ะ จะต้องทำอย่างไร ก็ต้องหาผู้ค้ำประกันไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พี่น้อง พ่อแม่หรือบุคคลอื่นๆ ในครอบครัว ค้ำประกันคือการใครคนหนึ่งทำสัญญากับเจ้าหนี้ว่าถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้นั้นแทนเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เจ้าหนี้ก็ย่อมมีสิทธิรียกร้องหรือฟ้องให้ค้ำประกันรับผิดได้ ดังนั้นในฐานะผู้ค้ำประกันจะมีสิทธิ์ปกป้องตัวเองได้อย่างไรบ้าง วันนี้ ธรรมนิติ จะพาไปหาคำตอบกันได้เลยค่ะ
การค้ำประกันคือ
การค้ำประกันเป็นการทำสัญญา ซึ่งต้องมีบุคคลภายนอก หรือที่เรียกว่า ผู้ค้ำประกัน โดยต้องเข้ามาผูกพันทางกฎหมายต่อเจ้าหนี้ เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้กรณีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามสัญญา ในการทำสัญญาค้ำประกันนี้ จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด พร้อมกับลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันไว้ด้วย มิฉะนั้นจะฟ้องบังคับคดีกันไม่ได้ สัญญาค้ำประกันจะต้องระบุหนี้หรือสัญญาค้ำประกันไว้โดยชัดแจ้ง และ
ผู้ค้ำประกันย่อมรับผิดเฉพาะหนี้หรือสัญญาที่ระบุไว้เท่านั้น
กรณีเมื่อลูกหนี้ผิดนัด เมื่อถึงกำหนดวันเวลาที่ต้องชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงกับเจ้าหนี้แล้ว กฎหมายกำหนดให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ในระหว่างนี้ห้ามเจ้าหนี้เรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกัน
หากผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้หมดแล้ว ผู้ค้ำประกันยังมีสิทธิ์ที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ เพื่อเงินต้นกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหาย หรือเสียหายไปอย่างใด ๆ เพราะการค้ำประกันนั้นได้ หรือหากเมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันสามารถขอชำระหนี้กับเจ้าหนี้ได้ตั้งแต่เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้
สาระสำคัญของค้ำประกัน
– เป็นการค้ำประกันหนี้ของบุคคลภายนอก โดยที่บุคคลภายนอกยินยอมเข้าผูกพันตนต่อหนี้ของบุคคลอื่น
– ต้องมีหนี้ที่เรียกกันว่าหนี้สัญญาประธาน ซึ่งจะเกิดจากสัญญาหรือมูลละเมิดก็ได้
(มูลละเมิดคือ ค่าเสียหายในทางแพ่งอันเกิดจากการกระทำโดยผิดกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ซึ่งจะกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม)
– สัญญาค้ำประกันจะทำด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือก็ได้ แต่หากไม่ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันไว้ จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้
– ผู้ค้ำประกันมีสิทธิไล่เบี้ยจากลูกหนี้ได้
ผู้ค้ำประกันมีสิทธิ์อะไรบ้าง
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีข้อคุ้มครองผู้ค้ำประกัน ดังนี้
- มาตรา 688 เมื่อเจ้าหนี้ทวงให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะขอให้เรียกลูกหนี้ชำระก่อนก็ได้ เว้นแต่ลูกหนี้จะถูกศาลพิพากษาให้เป็นคนล้มละลายเสียแล้ว หรือไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ไปอยู่แห่งใดในพระราชอาณาเขต
- มาตรา 689 ถึงแม้จะได้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดั่งกล่าวมาในมาตราก่อนนั้นแล้วก็ตาม ถ้าผู้ค้ำประกันพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้นั้นมีทางที่จะชำระหนี้ได้และการที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นจะไม่เป็นการยากไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องบังคับการชำระหนี้รายนั้นเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน
ทุกครั้งที่เกิดการเบี้ยวหนี้ ผู้ค้ำประกันมักเสียเปรียบเจ้าหนี้และต้องแบกภาระหนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ อย่างไรก็ตาม มีความพยายามแก้ไขและผลักดันกฎหมายหลายฉบับออกมา เพื่อปกป้องสิทธิของผู้ค้ำประกันให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น โดยกำหนดให้ธุรกิจหลายประเภทเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติว่าด้วยการค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ดังนั้น แม้ว่าผู้ค้ำประกันจะมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้แต่หากบุคคลที่เราไปค้ำประกันให้ ไม่ยอมชำระหนี้ตามสัญญา ผู้ค้ำประกันก็มีสิทธิขอให้เจ้าหนี้ติดตามเรียกลูกหนี้มาชำระหนี้ก่อนตนได้ เว้นแต่ลูกหนี้จะถูกศาลพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย หรือไม่ปรากฏว่าอยู่ที่ใด และหากผู้ค้ำประกันพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้มีหนทางที่จะชำระหนี้ได้และการบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นไม่เป็นการยาก เจ้าหนี้จะต้องบังคับการชำระหนี้รายนั้นเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน
แม้จะมีกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกันมากขึ้น แต่ก็อาจจะไม่ได้หมายความว่าเราจะหลุดออกจากสัญญาค้ำประกันได้ ดังนั้น ควรตัดไฟแต่ต้นลม ปฏิเสธการค้ำเป็นดีที่สุด ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้นั้นๆ ในการพิจารณาศักยภาพผู้กู้ด้วยตัวเอง ดีกว่าแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแล้วมานั่งค้นหาข้อมูล ผู้ค้ำประกันมีสิทธิ์อะไรบ้าง หากเกิดการเบี้ยวหนี้ อย่างที่ ธรรมนิติ นำมาฝากกันในวันนี้