เจ้าหนี้สามารถยึดอะไรได้บ้าง??
เจ้าหนี้สามารถยึดอะไรได้บ้าง
ในปัจจุบันปัญหาใหญ่ของคนไทยคงหนีไม่พ้นเรื่องหนี้ ซึ่งหนี้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบัน เพราะมีเงินก็ต้องนำไปจ่ายหนี้ เเละยังส่งผลกระทบทางการเงินในอนาคตอีกด้วย
เกือบ 30% ของลูกหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคล มีหนี้เกิน 4 บัญชีต่อคน วงเงินรวมต่อคนสูงถึง 10–25 เท่าของรายได้ในแต่ละเดือน ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ของต่างประเทศที่ห้ามไม่ให้มีหนี้เกินกว่า 5–12 เท่าของรายได้ต่อเดือน จนทำให้รายได้เกินกว่าครึ่งต้องเอาไปจ่ายคืนหนี้ ซึ่งเป็นภาระหนี้ที่มาจากหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคลเกิน 50% หนี้สองประเภทนี้จึงถือเป็นศูนย์กลางของปัญหากับดักหนี้ของคนไทย ที่สำคัญหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคลมีดอกเบี้ยสูง เนื่องจากเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ระยะเวลาผ่อนสั้น ทำให้มีหนี้ที่ต้องชำระคืนต่อเดือนสูง ลูกหนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะจ่ายไม่ไหวจนกลายเป็นหนี้เสีย เห็นได้จากจำนวนบัญชีของลูกหนี้รายย่อยที่เป็นหนี้เสีย เป็นหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคลมากกว่า 60%
เมื่อชำระหนี้ไม่ได้ ก็อาจถูกยึดหรืออายัดทรัพย์
คำว่า “ยึด” มีความหมายกว้างๆ ว่าการกระทำการใดๆ ต่อทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกยึดเพื่อให้ทรัพย์สินนั้นได้เข้ามาอยู่ในความควบคุม ดูแล หรือครอบครองของผู้ดำเนินการยึดทรัพย์สินนั้น ส่วนคำว่า “อายัด” มีความหมายกว้างๆ ว่า การสั่งให้บุคคลที่ถูกอายัดทรัพย์สิน หรือบุคคลภายนอกมิให้จำหน่าย จ่าย โอน หรือกระทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่ได้สั่งอายัดไว้
การอายัดเงิน ตามกฎหมายใหม่
เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าหนี้ชนะคดี หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน เจ้าหนี้มีสิทธิอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ได้ โดยตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อออกหมายอายัดต่อไป
การอายัดเงินเดือน โบนัส ค่าตอบแทนต่างๆ หากเจ้าหนี้รายแรกขออายัดเงินเดือนแล้ว เจ้าหนี้รายอื่นจะทำเรื่องขออายัดซ้ำไม่ได้ ต้องรอคิวให้รายแรกอายัดครบก่อน หรืออาจจะขอหารส่วนแบ่งเงินที่ถูกอายัดจากเจ้าหนี้รายแรกก็ได้ ถ้ารอก็จะรอได้ไม่เกิน 10 ปี หากเกิน 10 ปีก็จะหมดอายุความ
ทรัพย์สินที่สามารถยึดได้
– ของมีค่า เครื่องประดับทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น เพชร พลอย นาฬิกาและของสะสมที่มีมูลค่า
– บ้าน ที่ดิน และถึงแม้ว่าจะยังติดจำนองอยู่ก็สามารถที่จะยึดได้เช่นกัน
– รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้ และไม่ได้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ
– เงินในบัญชีเงินฝาก หรือเงินปันผลจากการลงทุนๆ
– ทรัพย์สินที่เป็นการลงทุน อาทิ หุ้น ทองคำ เป็นต้น
การอายัดเงินเดือน-รายได้ มีรายละเอียดอย่างไร
ส่วนการอายัดเงินเดือน หรือรายได้ที่ลูกหนี้ได้รับมานั้น เจ้าหนี้สามารถอายัดได้ก็ต่อเมื่อศาลได้ตัดสินแล้ว แต่ลูกหนี้เงียบเฉย ไม่ติดต่อ ไม่จ่ายเงิน หรือตกลงเรื่องการจ่ายเงินไม่ได้ ดังนั้น หากเจ้าหนี้รายแรกขออายัดเงินเดือนแล้ว เจ้าหนี้รายอื่น ๆ จะไม่สามารถอายัดได้อีก จะสามารถอายัดได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้รายแรกอายัดครบก่อน
สำหรับเกณฑ์การอายัดเงินเดือนของกรมบังคับคดี หากลูกหนี้เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำของข้าราชการ จะไม่ถูกอายัดเงินเดือน แต่ถ้าเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจหรือพนักงานบริษัท จะถูกอายัดเงินเดือนโดยมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1. เงินเดือนอายัดได้ไม่เกิน 30%
คำนวณจากเงินเดือนก่อนหักค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ภาษี ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ แต่ถ้าลูกหนี้มีเงินเดือนไม่ถึง 10,000 บาท เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถอายัดเงินเดือนได้
การอายัดเงินเดือนจะทำได้เมื่อลูกหนี้มีเงินเดือนเกิน 10,000 บาท และเมื่ออายัด 30% แล้วจะต้องเหลือเงินให้ลูกหนี้ใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ด้วย
ดังนั้น หากลูกหนี้มีเงินเดือน 12,000 บาท เจ้าหนี้อายัด 30% (เท่ากับ 3,600 บาท) จะทำให้ลูกหนี้มีเงินเดือนคงเหลือเพียง 8,400 บาท (12,000 – 3,600) ในกรณีนี้ เจ้าหนี้จะอายัดได้เพียง 2,000 บาท คงเหลือเงินจำนวน 10,000 บาทให้ลูกหนี้ใช้จ่ายนั่นเอง
แต่ก็มีกรณียกเว้น หากลูกหนี้มีค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่ารักษาพยาบาล ก็สามารถนำหลักฐานไปลดหย่อนที่กรมบังคับคดีเพื่อให้เจ้าหนี้ลดเปอร์เซ็นต์การอายัดได้
2. โบนัส
เจ้าหนี้สามารถอายัดได้ไม่เกิน 50% ดังนั้น เมื่อได้เงินโบนัสมา อย่าเพิ่งดีใจไป เพราะเจ้าหนี้สามารถอายัดได้ครึ่งหนึ่ง เมื่อหักภาษีแล้วลูกหนี้จะเหลือใช้ไม่ถึงครึ่ง
3. เงินตอบแทนจากการออกจากงาน เจ้าหนี้สามารถอายัดได้ 100%
4. เงินค่าคอมมิชชั่น เจ้าหนี้สามารถอายัดได้ 30%
5. เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เจ้าหนี้ไม่สามารถอายัดได้
ดังนั้น หากมีการสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกหนี้ก็พอเบาใจได้ส่วนหนึ่งว่าเงินจำนวนนี้จะยังเป็นเงินสะสมที่สามารถนำมาใช้จ่ายในอนาคตหลังเกษียณ
6. เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
ถือเป็นเงินกองทุนที่เจ้าหนี้ไม่สามารถอายัดได้
หากลูกหนี้มีค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ ในครอบครัว เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา หรือค่ารักษาพยาบาลโรคประจำตัว สามารถนำหลักฐานไปขอลดหย่อนที่สำนักบังคับคดี เพื่อให้ลดเปอร์เซ็นต์การอายัดเงินเดือนได้ โดยการยื่นเป็นคำร้องขอลดอายัด เจ้าพนักงานพิจารณาลดอายัดเงินได้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง เช่น เงินเดือน 30,000 บาท ถูกอายัด 10,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถลดให้ได้ 5,000 บาท หากต้องการให้ลดยอดอายัดมากกว่านี้ ก็จะต้องใช้สิทธิทางศาล โดยการยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง
สำหรับผู้บริโภคทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่มีบัตรเครดิต ควรปฏิบัติดังนี้
– ผู้บริโภคควรดำรงสัดส่วนหนี้อย่างเหมาะสม โดยไม่ควรมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายต่อเดือนสูงเกินไป จนทำให้รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายหลักในการดำรงชีพไม่เพียงพอสำหรับชำระหนี้ขั้นต่ำในแต่ละงวด
– ผู้บริโภคควรมีบัตรเครดิตในจำนวนน้อย หรือเท่าที่พอเพียงต่อความจำเป็น และควรปิดบัญชีบัตร เครดิตใดๆ ที่ไม่ได้ใช้แล้ว เพราะโดยปกติสถาบันผู้ให้สินเชื่อจะดูขีดความสามารถในการจับจ่ายว่า ผู้บริโภครายนั้นๆ มีขีดความสามารถในการชำระหนี้ได้ขนาดไหน หากมีจำนวนบัตรเครดิตมากแนวโน้มการก่อหนี้ก็จะมีมากขึ้น
– ผู้บริโภคควรชำระหนี้ทุกรายการตามใบแจ้งหนี้จากสถาบันเจ้าหนี้ในจำนวนอย่างน้อยที่สุดเท่ากับจำนวนขั้นต่ำที่กำหนด และภายในระยะเวลาที่กำหนด และควรต้องชำระเต็มจำนวนตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้กับสถาบันเจ้าหนี้
– หากไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ตามกำหนดระยะเวลา หรือหากพบว่าข้อมูลในใบแจ้งหนี้มีความ คลาดเคลื่อน ควรรีบติดต่อกับสถาบันผู้ออกบัตรทันที และการดำเนินการร้องเรียนหรือแก้ไขข้อมูลควรทำเป็นลายลักษณ์อักษร
ข้อมูลจากฐานข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) และฐานข้อมูล ธปท. เดือนเมษายน 2565 และการคำนวณของ ธปท.
ข้อมูลหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3 ปี 2565 และการคำนวณของ ธปท.
ข้อมูลจากฐานข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) เดือนสิงหาคม 2565
ข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร)